ประวัติความเป็นมาหอจดหมายเหตุ

สืบค้นเอกสารหอจดหมายเหตุ

ห้องหนังสือ


พระราชพิธีแรกนาขวัญ

การฟื้นฟูขนบประเพณีสมัยโบราณขึ้นมา ประกอบพระราชพิธีขึ้นใหม่อีกครั้งในยุคนี้ ได้นำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ประชาชนชาวไทยอย่างมากมายเพียงใด ก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้ว เพราะสิ่งใดที่เป็นขนบธรรมเนียมเก่าแก่แต่ครั้งบรรพบุรุษ สิ่งนั้นชาวไทยก็ย่อมปรารถนาที่จะให้ยั่งยืนอยู่ ได้กระทำสืบเนื่องกันมาเพื่อให้ประเพณีโบราณนั้นไม่เสื่อมสลายไปกับวิวัฒนาการใหม่ๆ ที่แทรกแซงเข้ามา และทำท่าว่าจะลบเลือนแบบแผนอันแสนดีของไทยเรา
 
จากการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จทอดพระกฐินโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ราษฎรที่เฝ้าชมพระบารมีอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็แสดงความยินดีปรีดาอย่างทั่วหน้า เพราะการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือสุพรรณหงส์นี้ได้ว่างเว้นมาเกือบสามสิบปีแล้ว แม้แต่ชาวต่างชาติก็แสดงความสนใจประเพณีที่งดงามไปด้วยศิลปะของไทยแท้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ
 
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ นี้ ก็ได้มีการประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญขึ้นอีกวาระหนึ่ง ซึ่งพระราชพิธีนี้ก็ได้เว้นมาเป็นเวลานับสิบปีแล้วเช่นเดียวกัน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นผู้แรกนาขวัญ
 
พระราชพิธีนี้มีชื่อเป็นสองชื่อควบคู่กัน คือ พระราชพิธีมงคลและจรดพระนังคัล การที่มีชื่อเรียกรวมกันเช่นนั้น ก็เป็นเพราะการแบ่งเป็นวันสวดมนต์เป็นวันพืชมงคล ทำขวัญพืชต่างๆ อันมีข้าวเปลือก เป็นต้น แต่จรดพระนังคัล หรือแรกนาขวัญนั้นเป็นพิธีในตอนเช้า คือ ลงมือไถ

Read more...

วันนี้ในอดีต


10 พฤษภาคม พ.ศ.2527 : สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรก
สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งวาติกัน เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ในระหว่างการเยือนไทยนี้สมเด็จพระสันตะปาปาได้มีพระราชปฏิสันฐานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้เสด็จไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงรณรงค์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้งยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีนเป็นจำนวน 1 ล้านบาทอีกด้วย หลังจากเยือนประเทศไทยพระองค์ยังได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน

10 พฤษภาคม พ.ศ.2046 : คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบ หมู่เกาะเคย์แมน
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวสเปนพร้อมลูกเรือ เป็นชาวยุโรปคณะแรกที่ค้นพบ หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) ในระหว่างการเดินทางค้นหาดินแดนโลกใหม่ (New world) ตอนนั้นโคลัมบัสตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า Las Tortugas เนื่องจากพบเต่าทะเลจำนวนมาก ภายหลัง เซอร์ ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake) นักสำรวจชาวอังกฤษได้ขึ้นบกและยึดเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 2129 พร้อมกับตั้งชื่อว่าเคย์แมน หมู่เกาะเคย์แมนอยู่ในทะเลแคริบเบียน ระหว่างประเทศจาไมก้าและคิวบา ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ (Offshore Financial Center) หรือ Tax Havens เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีระบบกฎหมายภายใน หรือระบบกฎหมายภาษีพิเศษเป็นของตนเองที่เรียกว่า No-tax Jurisdiction คือเป็นดินแดนที่ปราศจากภาษี ซึ่งเอื้อต่อการโยกย้าย หรือเก็บกักเงินทุนของกลุ่มทุนข้ามชาติ เพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาระภาษีระหว่างประเทศ ถือเป็นแหล่งสำคัญในการฟอกเงินของนักการเมืองทั่วโลก และกลุ่มธุรกิจทุนข้ามชาติจำนวนมากก็มาตั้งบริษัทที่นี่ มีธนาคารจากทั่วโลกมาตั้งอยู่ที่นี่กว่า 500 แห่ง บริษัทอีกกว่า 2 หมื่นบริษัท และบริษัทประกันภัยอีกกว่า 300 แห่ง